ห้องสมุด

สมการอัลโลเมตริกชุดใหม่สำหรับการคำนวณมวลชีวภาพและคาร์บอน ของต้นไม้ในป่าดิบเขาทุติยภูมิในภาคเหนือของประเทศไทย

Date
2019
Authors
Pothong, T.
Publisher
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number
119
Suggested Citation
Pothong, T., 2019. New Allometric Equations for Tree Biomass and Carbon Calculations in Secondary Hill Evergreen Forests in Northern Thailand. PhD thesis, Graduate School, Chiang Mai University
Bas

การบุกรุกทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าไม้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีส่วนทำให้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ได้เกิดขึ้น เช่นกลไกการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีความสำคัญ และมีส่วนสร้างแรงจูงใจในการช่วยรักษาและฟื้นฟูป่าทุติยภูมิ ดังนั้นการวัดปริมาณการสะสมคาร์บอนที่แม่นยำและมีความน่าเชื่อถือจึงมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนทำให้กลไกนี้บรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ การศึกษานี้ได้สร้างสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่ที่เฉพาะเจาะจงต่อป่าดิบเขาทุติยภูมิและพื้นที่ป่าของแปลงไร่หมุนเวียนในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและขนาดต้นไม้ที่แตกต่างจากป่าสมบูรณ์ประเภทอื่น ๆ การพัฒนาสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่ได้เก็บจากตัวอย่างต้นไม้ด้วยวิธีการตัดและชั่งตัวอย่าง จากพื้นที่การศึกษา 3 พื้นที่คือ แปลงไร่หมุนเวียนอายุ 4 ปี 7 ปี และป่าทุติยภูมิหลังจากการทำไร่หมุนเวียนโดยมีอายุประมาณ 50 ปี ตัวอย่างต้นไม้ทั้งหมด 136 ต้น (รวมกับต้นไม้ที่มีการแตกหน่อจากต้นเดียวกัน) 23 ชนิด โดยมีขนาดความโตของต้นไม้ (DBH) ตั้งแต่ 1 ถึง 32.9 เซนติเมตร ตัวอย่างต้นไม้จากการอบและบดละเอียดแล้วจะถูกนำส่งเพื่อวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนในเนื้อไม้แต่ละชนิด การศึกษาความหนาแน่นเนื้อไม้ ได้จากการเก็บตัวอย่างจากต้นไม้ 79 ชนิด พบว่า 35 ชนิด ยังไม่มีปรากฏในฐานข้อมูลของ Global Wood Densities database ความหนาแน่นของเนื้อไม้แต่ละชนิดจากการศึกษาในครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.23 ถึง 0.75 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ทั้งนี้การสร้างสมการอัลโลเมตริกได้ใช้ข้อมูล ขนาดความโตของต้นไม้ (DBH) ความสูง (H) และความหนาแน่นเนื้อไม้ (WD) เป็นตัวแปรอิสระ และค่ามวลชีวภาพของต้นไม้เหนือพื้นดิน (AGB) เป็นตัวแปรตาม ผลจาการการวิเคราะห์ค่าความหนาแน่นเนื้อไม้มีความแตกต่างกันระหว่างชนิดของต้นไม้ (p < 0.05) ส่งผลทำให้เมื่อเพิ่มตัวแปรอิสระ ความหนาแน่นเนื้อไม้เข้าไปในสมการในรูปของ DBH2HWD มีความสำคัญที่สามารถทำนายค่าตัวแปรตาม AGB และยังช่วยลดความไม่แน่นอนของการประเมินการสะสมมวลชีวภาพเหนือพื้นดินได้ นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ค่าปริมาณคาร์บอนของระหว่างชนิดพบว่ามีความแตกต่างกันในทางสถิติ (p < 0.05) ค่าปริมาณคาร์บอนจากการวิเคราะห์โดยเฉลี่ยระหว่างชนิดคือ 44.84% (±1.63) ทั้งนี้จากการใช้สมการอัลโลเมตริกชุดใหม่กับข้อมูล พบว่าสามารถในการสะสมมวลชีวภาพของต้นไม้ได้มากที่สุดอยู่ในแปลงป่าทุติยภูมิ รองลงมาคือแปลงไร่หมุนเวียนอายุ 7 ปี และ 4 ปี ตามลำดับดังนี้ คือ 105.3, 38.3 และ 10.3 เมกกะกรัมต่อเฮกตาร์ และค่าการกักกับคาร์บอน คือ 47.7, 17.4 และ 4.6 เมกกะกรัมคาร์บอนต่อเฮกตาร์ นอกจากนี้ค่าปริมาณการสะสมคาร์บอนในพื้นที่ลุ่มน้ำบ้านเฮาะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้สมการที่มีอยู่เดิมซึ่งสร้างมาจากข้อมูลการสำรวจระยะไกล แสดงค่าคาร์บอนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการคำนวณปริมาณคาร์บอนจากการใช้สมการที่พัฒนามาจากข้อมูลพืชจากภาคสนาม ภาพรวมจากการศึกษาในครั้งนี้สามารถช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บกักคาร์บอนในป่าทุติยภูมิและพื้นที่ไร่หมุนเวียน ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปใช้เกิดประโยชน์กับการจัดเตรียมข้อมูลการสะสมคาร์บอนระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสและการซื้อในตลาดคาร์บอนต่าง ๆ ได้

Related Advice

มวลชีวภาพ การสะสมของคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ประมาณครึ่งหนึ่งของมวลชีวภาพของป่าที่กำลังเติบโตคือคาร์บอน ซึ่งหมายความว่าการฟื้นฟูป่าสามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่