เมื่อต้นปี พ.ศ. 2567 ได้เกิดเหตุไฟป่าลุกลามในพื้นที่ป่าเบญจพรรณผสมไผ่ ณ บ้านโป่งแยงนอก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ส่งผลให้พืชพรรณจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทางหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าไม้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) จึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าอย่างเร่งด่วน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มิใช่เพียงแค่การฟื้นฟูสภาพป่าพื้นเมืองและการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการศึกษาความเหมาะสมของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดต่อสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของป่าดิบแล้งในพื้นที่ราบต่ำ ตลอดจนการตอบสนองต่อสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ที่อาจนำไปใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้จำนวน 3,500 ต้น ครอบคลุมพื้นที่รวม 8.4 ไร่ โดยจะดำเนินการปลูกในช่วงฤดูฝน เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งตัวและการอยู่รอดของต้นกล้าในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ พื้นที่โครงการยังได้รับการพัฒนาให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติกลางแจ้งสำหรับนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรม “ยุวชนฟื้นฟูป่า” เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
การทดลองการใช้ปุ๋ย
เพื่อศึกษาผลของปริมาณการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกัน 4 ระดับต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มการทดลอง ดังนี้
- กลุ่มควบคุม ใส่ปุ๋ยอินทรีย์์ 50 กรัม/ต้น (เป็นปริมาณที่ใช้ตามปกติ)
- กลุ่มทดลองที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 100 กรัม/ต้น
- กลุ่มทดลองที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 150 กรัม/ต้น
- กลุ่มทดลองที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 200 กรัม/ต้น
การให้ปุ๋ยในแต่ละระดับจะดำเนินการครั้งแรกในช่วงที่ปลูกต้นไม้ และจะทำซ้ำอีกสามครั้งในช่วงฤดูฝนรอบแรก ทั้งนี้ การให้ปุ๋ยในแต่ละระดับจะถูกทำซ้ำอีกครั้งในช่วงฤดูฝนปีที่สอง
การติดตามผลจากโดรนและระบบภาคพื้นดิน
การสำรวจทางอากาศโดยใช้โดรนเพื่อประเมินความหนาแน่นของพืชพรรณที่มีอยู่เดิม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยในการวางแผนโครงการ และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับประเมินผลการฟื้นฟูในระยะถัดไป นอกจากนี้ การสำรวจภาคพื้นดินโดยอาสาสมัครและนักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรม จะมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ความสูงของต้นไม้ เส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณคอราก และอัตราการรอดชีวิตของต้นไม้ในระหว่างการสำรวจภาคพื้นดิน
กิจกรรมที่ได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน:
- วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 : ดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นและทำแผนที่ทางอากาศโดยใช้โดรน
- วันที่ 13 และ 26 มิถุนายน 2567 : จัดตั้งแปลงทดลองปุ๋ย
- วันที่ 29 มิถุนายน และ 13 กรกฎาคม 2567 : จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกับนักเรียน เจ้าหน้าที่อุทยาน และอาสาสมัคร
- วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 : ดำเนินการติดตามผลเบื้องต้นของต้นไม้เพื่อประเมินอัตราการรอดชีวิตและการเจริญเติบโต
- เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2567 : ดำเนินการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย
- วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 : สิ้นสุดระยะการติดตามผลในช่วงฤดูฝนรอบแรก
ผลลัพธ์เบื้องต้น
- อัตราการรอดชีวิตสูง : หลังจากสิ้นสุดช่วงฤดูฝนรอบแรก พบว่าต้นไม้ที่ปลูกร้อยละ 93 ยังคงรอดชีวิต โดยมี 6 ชนิดพันธุ์ที่มีอัตราการรอดชีวิตเกินร้อยละ 75 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกได้เป็นอย่างดี ชนิดพันธุ์ที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ได้แก่ Erythrina stricta และ Balakata baccata
- ปุ๋ยมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้น้อย : จากผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยในปริมาณที่สูงขึ้นไม่ได้ส่งผลให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าแนวทางปฏิบัติ ในปัจจุบันที่ใส่ปุ๋ย 50 กรัมต่อต้นในแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้
ทำไมโครงการนี้ถึงมีความสำคัญ
- การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเบญจพรรณผสมไผ่ : เป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ
- การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ : โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการมีส่วนร่วมของนักเรียน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่อุทยาน
- การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ : ผ่านการทดลองปลูกพันธุ์ไม้และการประเมินผลของสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ช่วยให้เราได้รับข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการฟื้นฟูป่าในอนาคต
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนรอบถัดไป ทางโครงการยังคงต้องการอาสาสมัครเพื่อช่วยดูแลรักษาและติดตามผลการดำเนินงาน หากท่านใดสนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถติดตามประกาศกิจกรรมอาสาสมัครได้ทางเพจเฟซบุ๊คของเรา