ห้องสมุด

นิเวศวิทยาการสืบพันธุ์และการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นในสกุล มะเดื่อ ไทร (Ficus spp.) เพื่อเป็นพรรณไม้ โครงสร้างสำหรับการฟื้นฟูป่า

Date
Feb 2012
Authors
Kuaraksa, C.
Publisher
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number
199
Suggested Citation
Kuaraksa, C., 2012. Reproductive Ecology and Propagation of Fig Trees (Ficus spp.) as Framework Trees for Forest Restoration. PhD Thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.

     ไม้ในกลุ่มมะเดื่อ ไทร ได้รับการส่งเสริมเป็นพรรณไม้โครงสร้างสำหรับปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในเขตร้อน เนื่องด้วยมีความสำคัญในระบบนิเวศโดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า วิทยานิพนธ์นี้ได้เสนอผลการศึกษาทางด้านนิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์และกรรมวิธีการปลูก ในมะเดื่อแบบแยกเพศแยกต้นจำนวน 7 ชนิด เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในโครงการฟื้นฟูป่าประกอบด้วย มะเดื่อใบใหญ่ ไทรใบขน มะเดื่อปล้อง มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อปล้องหิน มะเดื่อขนทองและมะเดื่อผูก
     ในระดับประชากรมะเดื่อเกือบทุกชนิดติดผลตลอดปีแต่ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล ต้นเพศเมียส่วนใหญ่ให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝน ขณะที่พัฒนาการของช่อดอกในต้นเพศผู้ส่วนใหญ่เกิดในช่วงหน้าแล้งก่อนหน้าต้นเพศเมียประมาณ 1-3 เดือน เนื่องด้วยมีต้นเพศผู้ของมะเดื่อใบใหญ่ไทรใบขน มะเดื่อเกลี้ยงและมะเดื่อผูกติดผลในปริมาณน้อยในช่วงฤดูฝนทำให้การกระจายตัวของตัวผสมเกสรอาจถูกจำกัด เมื่อพิจารณาระดับภายในต้นพบว่ารูปแบบพัฒนาการของผลมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในมะเดื่อแต่ละชนิดแต่ส่วนใหญ่เป็นไปโดยพร้อมเพรียง มีเฉพาะมะเดื่อปล้องและมะเดื่อปล้องหินที่พัฒนาการของผลภายในต้นเดียวกันมีหลากหลายระยะในช่วงเวลาเดียวกัน
     ความสัมพันธ์ระหว่างมะเดื่อกับแตนมะเดื่อส่วนใหญ่เป็นแบบเฉพาะเจาะจงคือมีแตนเพียงหนึ่งชนิดที่ทำหน้าที่เป็นแมลงพาหะถ่ายเรณู อย่างไรก็ดีพบแตนผสมเกสร 2 ชนิดในมะเดื่อปล้อง ในขณะที่มะเดื่อใบใหญ่และมะเดื่อเกลี้ยงใช้แตนผสมเกสรชนิดเดียวกัน นอกจากนี้เราพบว่าแตนผสมเกสรมีศักยภาพสูงในการผสมเกสรและค้นหาต้นมะเดื่อเพื่อวางไข่ไม่ว่าต้นมะเดื่อนั้นจะอยู่ห่างไกลจากต้นอื่นหรืออยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่โดนรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์
     วิธีที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์มะเดื่อเพื่อใช้ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าคือการเพาะจากเมล็ดเพราะต้นกล้ามีอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดตายสูงทั้งในเรือนเพาะชำและแปลงทดลอง นอกจากนี้การเพาะจากเมล็ดยังเป็นวิธีที่สะดวก ง่ายและประหยัดเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น
     ผลที่ได้จากการศึกษาไม่เพียงแต่ทำให้เราทราบถึงช่วงเวลาในการเก็บเมล็ด การขยายพันธุ์ เทคนิควิธีและสถานที่ที่เหมาะสมในการปลูกมะเดื่อแต่ละชนิด องค์ความรู้ที่ได้ยังสามารถนำไปประกอบใช้วางแผนการจัดการในโครงการฟื้นฟูป่าเพื่ออนุรักษ์ไว้ทั้งมะเดื่อและแตนมะเดื่อที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ
     มะเดื่อที่ศึกษาส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเป็นพรรณไม้โครงสร้างที่ดีสมควรนำไปใช้อย่าง
แพร่หลายในโครงการฟื้นฟูป่า

Related Advice

ปลูกป่าโดยการหยอดเมล็ด

การหยอดเมล็ดง่ายกว่าการปลูกต้นกล้า แต่อาจจะไม่ได้ผลดีเสมอไป เรียนรู้วิธีการและช่วงเวลาที่เหมาะสมของการปลูกป่าโดยการหยอดเมล็ด

การปลูกป่าและการดูแลกล้าไม้หลังปลูก

วิธีการปลูกกล้าไม้และดูแลกล้าไม้หลังปลูก รวมถึงการใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า และการทำกระดาษคลุมโคนต้น

การเลือกชนิดพรรณไม้เพื่อการฟื้นฟูป่า

ข้อแนะนำสำหรับการเลือกชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูป่า

นิเวศวิทยาป่าไม้

การรู้ว่าป่ามีการฟื้นตัวตามธรรมชาติได้อย่างไร (พลวัตของป่า) จะช่วยให้คุณวางแผนโครงการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ – คลิกที่นี่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทของป่า...