ห้องสมุด

พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและเทคนิคการเพาะด้วยเมล็ดโดยตรงเพื่อการฟื้นฟูป่าในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

Date
2005
Authors
Tunjai, P
Publisher
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number
147
Suggested Citation
Tunjai, P., 2005. Appropriate Tree Species and Techniques for Direct Seeding for Forest Restoration in Chiang Mai and Lamphun Provinces. MSc thesis, The Graduate School, Chiang Mai University.
Dia Shannon

บทคัดย่อ: 

โครงการฟื้นฟูป่านิยมใช้การปลูกต้นกล้าจากเรือนเพาะชำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับแรงงานการเก็บเมล็ด การดูแลต้นกล้าในเรือนเพาะชำ การขนย้ายต้นกล้าไปยังพื้นที่ปลูก การเตรียมพื้นที่และการปลูกตลอดจนการควบคุมวัชพืชและการใส่ปุ๋ยจนต้นกล้าสามารถรอดชีวิตได้ในสภาพธรรมชาติ การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงจึงอาจเป็นทางเลือกสำหรับลดงบประมาณการฟื้นฟูป่าและการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาชนิดพรรณพืชและเทคนิคสำหรับการปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงที่เหมาะสมในภาคเหนือของประเทศไทย

แปลงทดลองสำหรับพื้นที่สูงและพื้นที่ราบอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนตามลำดับพรรณพืชที่ศึกษาในพื้นที่สูง คือ Aquilaria crassna Pierre ex Lec. (Thymelaceae)(กฤษณา) Balakata baccata (Roxb.) Esser. (Euphorbiaceae)(สลีนก) Carallia brachiata (Lour.) Merr. (Rhizophoraceae)(เฉียงพร้านางแอ) Eugenia fruticosa DC. (Myrtaceae)(หว้าขี้กวาง) Sarcosperma arboreum Bth. (Sapotaceae)(มะยาง) และ Spondias axillaris Roxb (Anacardiaceae)(มะกัก) ส่วนพรรณพืชที่ศึกษาในพื้นที่ราบ คือ Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib (Leguminosae, Caesalpinioideae)(มะค่าโมง) Artocarpus lakoocha Roxb. (Moraceae)(หาด) Casearia grewiifolia Vent. var.grewiifolia (Flacourtiaceae)(กรวยป่า) Eugeniacumini (L.) Druce (Myrtaceae)(หว้าขี้แพะ)Schleichera oleosa (Lour.) Oken (Sapindaceae)(ตะคร้อ) และ Trewia nudiflora L. (Euphorbiaceae)(มะฝ่อ) มีการทดลองเกี่ยวกับการงอกทั้งในสภาพเรือนเพาะชำและสภาพธรรมชาติ เทคนิคการเตรียมเมล็ดก่อนปลูกที่ใช้ คือ การแช่เมล็ดในน้ำเป็นเวลา 48 ชั่วโมงและทำรอยแผลที่เปลือกหุ้มเมล็ดเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกและกระตุ้นให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น พยายามลดโอกาสที่เมล็ดจะถูกกินเป็นอาหารรวมทั้งกำจัดวัชพืชทุก 2 เดือนสำหรับแปลงทดลองในสภาพธรรมชาติ

การเตรียมเมล็ดก่อนปลูกรวมถึงการใส่ดินจากต้นแม่มีผลเพียงเล็กน้อยต่อพืชบางชนิด พบว่าไม่สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกของพืชทุกชนิดและลดเปอร์เซ็นต์การงอกของสลีนกอย่างมีนัยสำคัญในสภาพธรรมชาติ (p<0.05) สาเหตุอาจเป็นเพราะต้นกล้าสูญเสียน้ำและถูกทำลายโดยสัตว์

การควบคุมวัชพืชมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของพรรณพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) คือ เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเฉียงพร้านางแอเพิ่มขึ้นแต่เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของกฤษณา สลีนกและมะกักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การควบคุมวัชพืชมีผลเพียงเล็กน้อยต่อมะค่าโมงและตะคร้อ สาเหตุอาจเป็นเพราะโครงสร้างของต้นกล้าแต่ละชนิดมีผลต่อการสูญเสียน้ำแตกต่างกัน

พรรณพืชที่ศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างต้นกล้าจากการปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงและต้นกล้าจากเรือนเพาะชำหลังจากปลูกในพื้นที่ธรรมชาติเป็นเวลา 1 ปี คือ Gmelina arborea Roxb. (Verbenaceae)(ซ้อ)Melia toosendan Sieb. & Zucc. (Meliaceae)(เลี่ยน)Oroxylum indicum (L.) Kurz (Bignoniaceae)(เพกา)Prunus cerasoides D. Don (Rosaceae)(นางพญาเสือโคร่ง) Sarcosperma arboreum Bth. (Sapotaceae)(มะยาง) และ Spondias axillaris Roxb (Anacardiaceae)(มะกัก) พบว่าค่าเฉลี่ยของเส้นรอบวงโคนต้น ความสูง ความกว้างทรงพุ่มและเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของซ้อ เลี่ยน นางพญาเสือโคร่งและมะกักที่ปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงมีค่ามากกว่าต้นกล้าจากเรือนเพาะชำอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05)

จากการศึกษานี้พบว่าภาวะการแข่งขันระหว่างต้นกล้าและวัชพืชไม่ใช่ปัญหารุนแรงในปีแรกหลังจากปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง วัชพืชไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์การงอก การพักตัวของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพรรณพืชหลายชนิดที่ทำการศึกษา ในทางตรงกันข้ามพบว่าพืชบางชนิดได้ผลดีจากร่มเงาของวัชพืชสำหรับป้องกันต้นกล้าจากอุณหภูมิสูงและแสงแดดที่รุนแรง

เทคนิคการเตรียมเมล็ดก่อนปลูกในการศึกษานี้มีผลต่อเปอร์เซ็นต์การงอกและช่วงเวลาพักตัวของเมล็ดที่ไม่แน่นอน จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาเทคนิคที่มีประสิทธิภาพและให้ผลที่แน่นอนต่อไป

การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงสามารถลดงบประมาณได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับการใช้ต้นกล้าจากเรือนเพาะชำ ซึ่งคำนวณจากการใช้ต้นกล้าจำนวน 500 ต้นสำหรับพื้นที่ 1 ไร่

การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงอาจเหมาะสมสำหรับโครงการฟื้นฟูป่าที่มีงบประมาณจำกัดแต่จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ

Dia - Thai

Related Advice

ปลูกป่าโดยการหยอดเมล็ด

การหยอดเมล็ดง่ายกว่าการปลูกต้นกล้า แต่อาจจะไม่ได้ผลดีเสมอไป เรียนรู้วิธีการและช่วงเวลาที่เหมาะสมของการปลูกป่าโดยการหยอดเมล็ด

การเลือกชนิดพรรณไม้เพื่อการฟื้นฟูป่า

ข้อแนะนำสำหรับการเลือกชนิดพรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูป่า