ห้องสมุด

การขยายพันธุ์ไม้ยืนต้นท้องถิ่นเพื่อการฟื้นฟูป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

Date
2003
Authors
Vongkamjan, S
Publisher
The Graduate School, Chiang Mai University
Serial Number
120
Suggested Citation
Vongkamjan, S.2003 Propagation of Native Forest Tree Species for Forest Restoration in Doi Suthep-Pui National Park. Graduate School, Chiang Mai University.
Supawan

การฟื้นฟูระบบนิเวศของสภาพป่าที่ถูกทำลายเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า ต้องปลูกด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อการช่วยอนุรักษ์พันธุ์และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจะช่วยเร่งให้ป่าได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ยังพบว่ามีพันธุ์ไม้จำนวนมากที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูป่า แต่ประสบปัญหาในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะเมล็ดมีระยะพักตัวที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การผลิตต้นกล้าไม่เพียงพอต่อการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ดังนั้นจึงนำมาซึ่งจุดประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาเทคนิค และหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์พรรณไม้ยืนต้นจำนวน 30 ชนิด โดยการเพาะเมล็ด และ 10 ชนิด โดยการปักชำกิ่ง หากพบว่าเป็นที่มีปัญหาในการเพาะเมล็ด และ/หรือต้นกล้าเจริญเติบโตช้า นอกจากนี้ยังทำการศึกษาชีพลักษณ์วิทยาของการออกดอกออกผลของพรรณไม้ การนำเมล็ดไปทดลองหว่านในป่าธรรมชาติโดยตรงเพื่อศึกษาเปอร์เซ็นต์งอกของเมล็ด และศึกษาถึงผลกระทบจากสัตว์กินเมล็ดด้วย

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้น มีความจำเป็นต้องรู้ช่วงเวลาที่ผลของพรรณไม้สุก การขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำก็เช่นกัน จำเป็นต้องรู้ช่วงเวลาที่กิ่งกระทง กำลังมีการเจริญเติบโตพอเหมาะต่อการตัดกิ่งมาปักชำได้ ผลการศึกษาพบว่าผลหรือเมล็ดของพรรณไม้ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด มีการกระจายเมล็ดในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงต้นของฤดูร้อน (เดือนกันยายน-เดือนมกราคม) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงแม้ว่าเมล็ดจะสามารถงอกได้ แต่การเจริญเติบโตของต้นกล้าอาจจะยังโตไม่พอที่จะอยู่รอดต่อไปได้ในฤดูแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ด้วยสาเหตุดังกล่าว เมล็ดพันธุ์ไม้จึงมีระยะพักตัวในฤดูแล้ง และรอจนกระทั่งจะเริ่มฤดูฝน ดังนั้น ขั้นตอนในการผลิตต้นกล้าให้มีปริมาณที่เพียงพอและให้ได้คุณภาพสูงนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่า และได้มีการตั้งมาตรฐานการยอมรับขึ้น เป็นเปอร์เซ็นต์การงอกต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 50%, ค่ากลางของการงอกต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 วัน และช่วงเวลาที่ใช้งอกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 60 วัน จากเกณฑ์ดังกล่าวพบพรรณไม้ถึง 19 ชนิด ที่ต้องการวิธีการปฏิบัติพิเศษด้วยวิธีการต่างๆ ก่อนการเพาะเมล็ด ในขณะที่ 1 ใน 3 เปลี่ยนจากที่ไม่ยอมรับเป็นที่ยอมรับได้ โดยไม่ต้องการวิธีดังกล่าว วิธีการปฏิบัติพิเศษช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดได้ดีเยี่ยมใน 5 ชนิด ที่เป็นพวกตระกูลถั่วและอีก 1 ชนิด ในตระกูลอีลีโอคาร์ปาซีอี จากจำนวน 3 ใน 5 ชนิด ที่ถูกเร่งให้งอกอย่างรวดเร็วมาก และงอกในเวลาพร้อมๆกัน (สะเดาช้าง, กางหลวง และคูณ) ส่วนที่เหลืออีก 3 ชนิด เร่งการงอกได้เร็วปานกลาง (มะค่าโมง, มุ่น และมะค่าแต้) จากการเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ดในที่พรางแสง กับที่มีแสงน้อย พบว่า กางหลวงจะเร่งให้งอกได้ดีในที่มืด ขณะที่อีก 19 ชนิด เร่งให้งอกได้ดีในที่มีแสงน้อย และ 7 ชนิด เร่งให้งอกได้ดีก็ต่อเมื่อนำเมล็ดไปเพาะในที่พรางแสง อย่างไรก็ตามที่เหลืออีก 3 ชนิด ผลการทดลองเป็นแบบผสมไม่สามารถแยกกลุ่มได้ เมื่อนำเมล็ดไปหว่านในช่องว่างในป่าธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ดในเรือนเพาะชำ พบว่า 15 ชนิด มีเปอร์เซ็นต์การงอกในเรือนเพาะชำสูงกว่าในป่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีเพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่งอกได้ดีกว่าเมื่อเพาะเมล็ดในป่า ที่เหลืออีก 10 ชนิด ที่ให้ผลการทดลองที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้น 14 ชนิดดังกล่าวน่าจะมีความเหมาะสมต่อการนำเมล็ดไปหว่านในป่าได้ แต่ก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบจากสัตว์ที่จะมากินเมล็ดด้วย 

จากผลการศึกษาถึงผลกระทบจากสัตว์ที่มากินเมล็ด พบว่า มีความผันแปรไปตามชนิดของเมล็ด ขนาดของเมล็ด และส่วนที่ห่อหุ้มผล หรือเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดของกระบกถูกกินทั้งหมด เช่นเดียวกับเมล็ดของโมลี และสมอไทย สัตว์ที่มากินเมล็ดเป็นพวกสัตว์ฟันแทะ พวกหนูและกระรอก เมื่อพิจารณาถึงพรรณไม้ที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง, ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะมากินเมล็ด, มีการงอกได้อย่างรวดเร็ว และงอกได้ในเวลาพร้อมๆกัน มีจำนวน 7 ชนิดเท่านั้น ที่เหมาะที่จะนำเมล็ดไปหว่านในป่าโดยตรง

กิ่งชำไม้ยืนต้นแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อสารเร่งรากที่แตกต่างกัน พบว่า จำนวน 5 ชนิด จากที่ใช้ทดลองทั้งหมด 10 ชนิด ที่มีเปอร์เซ็นต์การออกรากสูงมากกว่า 60% ซึ่งได้แก่ ไข่ปลา (Debregeasia longifolia) (68%) และส้านเห็บ (Saurauia roxburghii) ออกรากได้ดีเมื่อใช้ เซราดิกส์ เบอร์ 3 (68% และ 65% ตามลำดับ), ผักเฮือด (Ficus superba) เมื่อใช้ IBA 3000 ppm (72%) และยาบใบยาว (Colona flagrocarpa) เมื่อใช้ IBA 8000 ppm (63%) อย่งไรก็ตาม ม่อนหลวง (Morus macroura) สามารถออกรากได้สูงถึง 90% โดยปราศจากสารเร่งราก

 

Related Advice

วิธีการในเรือนเพาะชำ

วิธีการจัดตั้งและบริหารจัดการเรือนเพาะชำเพื่อการฟื้นฟูป่า รวมถึงขั้นตอนและตารางการผลิตกล้าไม้ในเรือนเพาะชำ

การเก็บและรักษาเมล็ด และธนาคารเมล็ด

การเก็บเมล็ด และการเก็บรักษาเมล็ด ไปจนถึงวิธีการทำธนาคารเมล็ดเพื่อการฟื้นฟูป่า