เรียนรู้การฟื้นฟูภูมิทัศน์และระบบนิเวศป่าไม้ลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง
วันที่ 4–5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย (WWF Thailand) ร่วมกับอำเภอศรีสงคราม และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) จัดกิจกรรมภายใต้โครงการ "ปกป้อง ฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ลุ่มแม่น้ำศรีสงครามตอนล่าง" เพื่อจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการฟื้นฟูป่า โดยเน้นหลักการ แนวคิด และการฝึกปฏิบัติให้กับชุมชนบ้านยางงอย และบ้านศรีเวินชัย อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
เรียนรู้ภาคทฤษฎีการฟื้นฟูป่าและภาคปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ชาวบ้านจากสองหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านยางงอยและบ้านศรีเวินชัย ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงค์ ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของระบบนิเวศป่า วิธีการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม และการใช้พรรณไม้โครงสร้างในการฟื้นฟูป่า ระหว่างกิจกรรม ชาวบ้านให้ความสนใจอย่างมากต่อแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชน เดิมทีพื้นที่อำเภอศรีสงครามในอดีตเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ต้นกระเบา ต้นเสม็ด ต้นสนุ่น ต้นหนามแท่ง ต้นจาง และต้นติ้ว เป็นต้น แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าเกิดความเสื่อมโทรมทำให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูป่า และมีความตั้งใจที่จะร่วมทำกิจกรรมช่วยกันฟื้นฟู
นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ร่วมกิจกรรมภาคปฏิบัติการเรียนรู้ป่าอ้างอิง เก็บข้อมูลชีพลักษณ์ การเก็บเมล็ดจาก ต้นเสม็ดขาว (Eugenia grata) และต้นยางเหียง (Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.) และเก็บทำตัวอย่างของต้นไม้ที่พบ ณ ป่าชุมชนบ้านยางงอย ชาวบ้านได้เรียนรู้และตระหนักความสำคัญของป่าชุมชน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน
ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง
กิจกรรมวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ชาวบ้านจากหมู่บ้านยางงอยและบ้านศรีเวินชัยได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่อย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมการฟื้นฟู รวมถึงเทคนิคการปลูกต้นไม้ การดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในแปลงฟื้นฟู และการติดตามผลการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแปลงฟื้นฟู
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างและดูแลเรือนเพาะชำ ตั้งแต่การออกแบบเรือนเพาะชำ กระบวนการในเรือนเพาะชำ เช่น การเตรียมและจัดการเมล็ด การเพาะเมล็ด การย้ายกล้า และการดูแลรักษาต้นกล้าในเรือนเพาะชำตลอดกิจกรรม ชาวบ้านให้ความสนใจอย่างมากต่อกระบวนการเหล่านี้ และได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงในหลายขั้นตอน เนื่องจากมีความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของชุมชนอย่างยั่งยืน
ป่าบุ่มป่าทามพื้นใหญ่ของพื้นที่ทีชุ่มน้ำของลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญโลกแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ลำดับที่ 2,420 ของโลก ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ได้แก่ ไผ่กะซะ (Dendrocalamus membranaceus Munro ) ไชยวาน (Cephalanthus tetrandra (Roxb.) Ridsdale & Bakh.f.) ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง
ขอบคุณข้อมูล
ไทยพีบีเอส. (2563, 13 สิงหาคม). ฟื้นป่าบุ่งป่าทาม "แม่น้ำสงคราม" แหล่งอนุบาลปลาน้ำโขง. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/295435
Arcadian Eco. (2025, 29 มีนาคม). แม่น้ำสงครามตอนล่างระบบนิเวศที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์. สืบค้นจาก https://arcadianeco.com/2025/03/29/แม่น้ำสงครามตอนล่างระบบ/


























